วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เลี้ยงไก่ไข่ เดือนกว่า 1.6 แสนบาท



ท่ามกลางที่มีคนบางกลุ่มกำลังมีการต่อต้านการทำเกษตรในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา หรือคอนแทร็คฟาร์มมิ่ง แต่ "สมบุญ คำสอน" เจ้าของฟาร์มไก่ไข่ "ปานตะวันฟาร์ม" ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 39 หมู่ 9 ต.บ้านโคก อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ มั่นใจว่า จากที่ได้คลุกคลีกับเกษตรกรเมื่อครั้งที่เป็นพนักงานสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง มั่นใจเป็นระบบที่ดี ที่ลดความเสี่ยงในด้านราคา จึงตัดสินใจลาออกจากงาน ลงทุนเลี้ยงไก่ไข่ ทำให้มีรายเดือนกว่า 1.6 แสนบาท


สมบุญ บอกว่า ชีวิตการทำงานเริ่มต้นที่เป็นพนักงานฝ่ายสินเชื่อให้แก่เกษตรกรของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ทำให้รู้จักโครงการเลี้ยงไก่ไข่ ในรูปแบบของประกันราคาของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เห็นแล้วเกษตรกรมีรายได้ดี ทำให้ศึกษารายละเอียด และพบว่าเป็นอาชีพที่น่าสนใจ จึงตัดสินใจกู้เงินจากธนาคารจำนวนหนึ่ง หันมาเลี้ยงไก่ไข่เมื่อปี 2545 จำนวน 1 โรงเรือนเลี้ยงไก่ได้ 10,080 ตัว ระหว่างนั้นมีหลายคนมาสอบถามว่าทำไมถึงเลือกทำในรูปแบบประกันราคา ที่มีความเสี่ยงมากกว่าการทำแบบประกันรายได้


"ที่บ้านเคยมีประสบการณ์จากการที่เคยเลี้ยงหมูหลังบ้านมาก่อน เมื่อ 10 ปีก่อน ตอนนั้นเราต้องหาเองทุกอย่างรวมทั้งตลาดด้วย เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การเลี้ยงไก่ไข่ในระบบประกันราคา มองเห็นชัดว่ามีความเสี่ยงน้อยมาก รายได้แน่นอน เราไม่ต้องกังวลเรื่องตลาด ทางบริษัทเข้ามารับความเสี่ยงนี้แทนเราทั้งหมด จึงมองว่าน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผม" สมบุญ กล่าวอย่างมั่นใจ

เจ้าของฟาร์มปานตะวันฟาร์ม บอกด้วยว่า จากการที่ได้คลุกคลีกับเกษตรกรทราบว่า ในการเลี้ยงไก่ไข่โดยปกติในแต่ละปีจะมีช่วงที่ไข่ไก่ราคาดีอยู่เพียง 3 เดือนเท่านั้น คือหน้าร้อนผลผลิตไข่ไก่มีน้อย เพราะแม่ไก่เครียด แต่มีช่วงที่ราคาไข่ไก่ตกต่ำนานถึง 9 เดือน จึงเลือกเลี้ยงแบบประกันราคา เพราะซีพีเอฟให้ราคาที่สูงกว่าราคาตลาดทั่วไป การประกันราคาจึงเป็นหลักประกันที่ทำให้มีรายได้ที่แน่นอนตลอดการเลี้ยงไก่ไข่ โดยไม่ต้องกังวลกับราคาในท้องตลาดว่าจะขึ้นหรือลง ขอเพียงให้เราเลี้ยงตามที่ตกลงกันไว้เท่านั้น
2 ปีผ่านไปในปี 2557 สมบุญ ตัดสินใจสร้างโรงเรือนไก่ไข่เพิ่มอีก 1 หลัง บรรจุแม่ไก่ไข่ได้ 10,200 ตัว เมื่อคำนวณรายได้แล้ว หลังจากที่หักค่าใช้จ่ายต่างๆ พบว่า รายได้จากผลผลิตไข่ไก่ทั้ง 2 โรงเรือนนี้ สร้างรายได้ประมาณเดือนละ 1 แสนบาท ขณะที่มูลไก่ไข่ที่นำมาตากทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ยังสร้างรายได้เสริมให้อีกเดือนละกว่า 6 หมื่นบาท เวลาผ่านไป 4 ปี สมบุญสามารถปลดภาระเงินกู้ธนาคารได้ทั้งหมด
"การเลี้ยงไก่ไข่ สิ่งสำคัญอยู่ที่การใส่ใจดูแลแม่ไก่ไข่ที่เราเลี้ยง ให้สามารถให้ไข่ได้อย่างสม่ำเสมอ เพราะหากได้ผลผลิตไข่มาก รายได้ก็จะสูงตามไปด้วย ซึ่งผลผลิตไข่ไก่ของผม อยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่ามาตรฐานที่บริษัทกำหนดด้วย มาถึงวันนี้ บอกได้เลยว่าผมตัดสินใจถูก ทำให้รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการนำผลผลิตไข่ไก่คุณภาพดีให้แก่ผู้บริโภค" สมบุญ กล่าว
นับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ทำให้วันนี้ของ "สมบุญ คำสอน" มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


ที่มา: http://www.komchadluek.net
ภาพจาก

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น