วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ถ่านเหง้ามันสำปะหลัง อินเตอร์



เหง้ามันสำปะหลังเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากการแปรรูป 
ผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการบริโภคของมนุษย์หรือสัตว์ได้ เกษตรกรจึงมักจะนำไปเผาทิ้งไป โดยเปล่าประโยชน์ หากพิจารณาในแง่การให้พลังงานพบว่าเหง้ามันสำปะหลัง สามารถเผาไหม้ให้ความร้อนสูงเทียบเท่าไม้ฟืน จึงจัดเป็นชีวมวลที่มีศักยภาพในการนำมาเผาไหม้ ให้พลังงานความร้อนเพื่อใช้เป็นต้นกำลังสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า และการเกิดกระบวนการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ก็จะลด ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบกว่าการใช้ เชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทอื่นๆ



การเก็บเกี่ยวหัวมันสำปะหลังสดนั้น พบว่ามีส่วนของลำต้นที่ติดกับส่วนของหัวมันสด หรือส่วนที่เรียกว่า เหง้ามันสำปะหลัง เป็นส่วนที่แข็งของต้นมันสำปะหลัง ทำให้เกษตรกรต้องตัดทิ้งเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเหง้ามันสำปะหลังดังกล่าวไม่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังได้ โดยปกติเกษตรกรจะตัดทิ้งไว้ในไร่ และเผาทิ้ง แต่บางส่วนตัดไม่หมดคงปล่อยให้ติดมากับหัวมันสำปะหลังสด ทำให้เป็นภาระกับโรงงานผลิตแป้ง ที่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการตัดออก  แม้แต่ผู้ประกอบการผลิตมันเส้นเมื่อรับหัวมันสดที่ติดเหง้ามาจะทำให้ได้ผลผลิตมันเส้นที่ไม่มีคุณภาพ มีเหง้าแห้งติดอยู่ ขายได้ราคาต่ำและไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อลดปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงมีแนวคิดในการนำเหง้ามันสำปะหลังมาเผาแล้วอัดแท่งใช้เป็นวัสดุเชื้อเพลิงแทนฟืนและถ่าน เนื่องจากวิเคราะห์ค่าความร้อนของเหง้ามันสำปะหลังแห้งพบว่ามีค่าความร้อนสูงถึง 3,500 – 4,058 แคลอรีต่อกรัม พอจะเทียบได้จากค่าความร้อนของไม้ฟืน หรือหากจะเทียบกับค่าความร้อนของน้ำมันเตาประมาณ 9,500 แคลอรีต่อลิตร



ลักษณะและสมบัติของเชื้อเพลิงอัดแท่งจากเหง้ามันสำปะหลัง  เหง้ามันสำปะหลังก่อนเผาเป็นถ่านให้ค่าความร้อนโดยประมาณเท่ากับ 3,800-4,400 แคลอรี่ต่อกรัม ขึ้นกับลักษณะเหง้ามันสำปะหลัง กล่าวคือถ้าเป็นเหง้าบริเวณข้อต่อระหว่างโคนต้นกับหัวมันสำปะหลัง ซึ่งมีลักษณะเป็นไม้แข็ง จะให้ค่าความร้อนทั้งก่อนเผาและหลังเผาเป็นถ่านแล้วสูงกว่าเหง้ามันสำปะหลังที่มีส่วนติดลำต้นมามาก

โดยเมื่อนำเหง้ามันสำปะหลังที่เผาเป็นถ่านแล้วมาอัดเป็นเชื้อเพลิงแท่งจะให้ค่าความร้อนประมาณ 6,000 – 6,300 แคลอรีต่อกรัม มีค่าคาร์บอนคงตัว 25 – 27 มีปริมาณความชื้นร้อยละ 7 – 8 โดยน้ำหนัก มีปริมาณสารระเหยร้อยละ 55 – 57 โดยน้ำหนัก มีปริมาณเถ้าร้อยละ 10- 11 โดยน้ำหนัก ความหนาแน่น 0.9 – 1.0 กิโลกรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร มีค่าการทนแรงอัดแนวตั้ง 4.1 – 4.2 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร มีค่าการทนแรงอัดแนวนอน 1.5 – 1.7 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร ค่าดัชนีการแตกร่วน 1 – 1.3 และมีค่าประสิทธิภาพการใช้งานความร้อนร้อยละ 33 – 34 โดยน้ำหนัก



ประสิทธิภาพการใช้งานของเชื้อเพลิงอัดแท่งจากเหง้ามันสำปะหลัง

เชื้อเพลิงอัดแท่งจากเหง้ามันสำปะหลังจากโรงงานมันเส้น ขนาดผง 10 มิลลิเมตร อัตราส่วนตัวประสานแป้ง:น้ำเท่ากับ 1:9 สามารถติดไฟได้ภายในเวลา 2 นาที มีควันและกลิ่นน้อย สามารถต้มน้ำให้เดือดได้ 2 หม้อ โดยหม้อแรกใช้เวลาประมาณ 15 นาที หม้อที่ 2 ใช้เวลา 15 นาที ส่วนหม้อที่ 3 มาสามารถทำให้น้ำเดือดได้ แต่มีอุณหภูมิ 84 องศาเซลเซียส โดยใช้เวลา 48 นาที รวมระยะเวลาติดไฟ 78 นาที ประสิทธิภาพการใช้งานความร้อนมีค่า 33.11 %




เอกสารอ้างอิง

[1] กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน. รายงานสถานการณ์พลังงานประเทศไทย พ.ศ. 2543. กรุงเทพฯ. 2544.
[2] สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. สถิติการเกษตรของประเทศไทย ปีการเพาะปลูก 2544/2545. กรุงเทพฯ. 2545.
[3] สุวรรณ์ แสงเพ็ชร์. การผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยเหง้ามันสำปะหลัง. สาระน่ารู้เกี่ยวกับไฟฟ้า. กรุงเทพฯ. 2542.
[4] Boonrod Sajjakulnukit Assessment of Sustainable National Biomass Resource Potential for Thailand. 2001
[5] Peter Quaak, Harrue Knoef and Hubert Stassen. Energy from Biomass : A Review of Combustion and Gasification Technologies. Washington, D.C.1999.

http://www.rdi.ku.ac.th/kufair50/animal/11_4_animal/11_4animal.html

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น