วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2557

หอยเชอรี่


หอยเชอรี่ Pomacea canaliculata (Lamarck )มีชื่อเรียกได้อีกว่า “หอยโข่งอเมริกาใต้” หรือ “เป๋าฮื้อน้ำจืด” และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า  Golden apple snail เป็นหอยทากน้ำจืด (freshwater snail) มีฝาเดียว ในประเทศไทยพบสองชนิดคือ พวกที่มีเปลือกสีเหลืองปนน้ำตาล เนื้อและหนวดสีเหลือง และพวกมีเปลือกสีเขียวเข้มปนดำ และมีสีดำจางๆ พาดตามความยาว เนื้อและหนวดสีน้ำตาลอ่อน


หอยเชอรี่เจริญเติบโตและขยายพันธุ์ ได้เร็ว โดยที่ลูกหอยอายุประมาณ 2-3  เดือน ก็สามารถผสมพันธุ์ได้ และเพียง 1-2 วัน หลังจากผสมพันธุ์ ตัวเมียจะวางไข่ในบริเวณที่แห้งเหนือน้ำ เช่น บนกิ่งไม้ ต้นไม้ ต้นหญ้าริมน้ำ ซึ่งไข่จะมีลักษณะสีชมพูเกาะกันเป็นกลุ่ม และจะฟักตัวหลังจากวางไข่ได้ 7-12 วัน หอยเชอรี่เป็นสัตว์ที่กินพืชหลายชนิด เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด ผักตบชวา และโดยเฉพาะต้นกล้าข้าว จึงจัดได้ว่า หอยเชอรี่เป็นศัตรูข้าวที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย

การกำจัดโดยวิธีกล ได้แก่ การกำจัดเห็บและทำลายเมื่อพบตัวหอยและไข่ทันที่ หรือใช้ตาข่ายกั้นดักจับหอยเชอรี่บริเวณทางน้ำไหล หรือใช้ไม้หลักปักในนาข้าวเพื่อล่อให้หอยเชอรี่มาวางไข่แล้วจึงนำไปกำจัด บางส่วนก็มีการนำไปทำปุ๋ยชีวภาพ หรือนำมาบริโภค รวมทั้งผลิตเป็นอาหารสัตว์

แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า หอยเชอรี่ที่นำมาบริโภค หรือใช้เป็นอาหารสัตว์จะมีความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงและคนที่บริโภคสัตว์เลี้ยงนั้น เนื่องจากอาจมีสารพิษตกค้างจากการใช้สารเคมีในการปราบศัตรูพืช ตลอดจนการสะสมของโลหะหนักจากสภาพแวดล้อม

รศ.ดร. นิตยา เลาหะจินดา ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ จากกองสิ่งแวดล้อมประมง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงทำการตรวจโลหะหนัก จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ ตะกั่ว แคดเมียม ทองแดง สังกะสี แมงกานีส และเหล็ก ในอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งตรวจวัดโลหะหนักดังกล่าวในสัตว์ด้วยอาหารที่มีส่วนผสมของหอยเชอรี่

ซึ่งสารที่พบเกินมาตรฐานคือ “ตะกั่ว” โดยในอาหารสำเร็จรูปที่ใช้เลี้ยงไก่ไข่  และเป็ดไข่ พบตะกั่วสูงกว่ามาตรฐาน 4-8 เท่า ดังนั้นการใช้หอยเชอรี่ผสมกับอาหารสำเร็จรูปให้น้อยลงได้ และจากการนำอาหารผสมที่ประกอบด้วยอาหารสำเร็จรูป และเนื้อหอยเชอรี่อบแห้งไปเลี้ยงเป็ดไข่ ไก่ไข่ นกกระทา และปลา พบว่ามีผลทำให้เนื้อเป็ด ไข่เป็ด เนื้อนกกระทา และเนื้อปลา มีปริมาณโลหะหนักทุกชนิดต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ในเนื้อไก่ไข่ และไข่ไก่ มี ปริมาณตะกั่วที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานอยู่เล็กน้อย

นอกจากนั้นยังพบว่า วิธีการเลี้ยงเป็ดอีกวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพคือ การเลี้ยงโดยให้ทั้งอาหารสำเร็จควบคู่กับวิธีไล่ทุ่ง ซึ่งจัดเป็นการเลี้ยงแบบผสมผสานแทนการใช้อาหารสำเร็จรูปอย่างเดียว เนื่องจากการตรวจสอบไข่ เนื้อ และเครื่องในเป็ด พบว่ามีประมาณโลหะหนักต่ำมาก ทำให้สามารถนำมาใช้บริโภคได้อย่างปลอดภัย

การใช้หอยเชอรี่มาผสมในอาหารเลี้ยงสัตว์ นับว่าเป็นการช่วยกำจัดปริมาณหอยเชอรี่ได้อีกทางหนึ่ง แต่ก็ต้องระวังในเรื่องของสารตกค้าง เนื่องจากสารพิษในอาหารที่บริโภคแม้จะมีในประมาณน้อย แต่สารเหล่านี้สามารถสะสมได้ในผู้บริโภคระดับสูง ดังนั้นการตรวจสอบที่มาของวัตถุดิบที่นำมาทำอาหารเลี้ยงสัตว์จึงจำเป็นอย่างยิ่ง  ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยต่อสัตว์เพื่อการบริโภค รวมทั้งผู้บริโภคด้วย

อ้างอิงจาก : หนังสือสาส์นไก่ ปีที่ 59 ฉบับที่ 9 ประจำเดือนกันยายน 2554  สมาคมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น