วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

วิธีเลี้ยงหอยหวาน


การเลี้ยงหอยหวานในประเทศไทยเริ่มมีผู้สนใจเลี้ยงกันมากขึ้น เพราะเลี้ยงง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ดี ในช่วงปี 2545 - 2546 หอยหวานมีราคา 250 - 300 บาท/กิโลกรัม ในช่วง 2547 - 2548 หอยหวานมีราคาสูงมาก มีราคา 300 - 360 บาท/กิโลกรัม และในช่วงปี 2549 ถึงปัจจุบัน

หอยหวานมีราคาลดลงมาอยู่ที่ราคา 200 - 250 บาท/กิโลกรัม เพราะตลาดใหญ่อย่างประเทศจีน เริ่มมีการผลิตหอยหวานขึ้นมาบริโภคเอง ประกอบกับทางประเทศเวียดนามก็มีการเลี้ยงหอยหวานเช่นกัน สำหรับตลาดในแถบยุโรปยังไม่มีการทำตลาดกัน ส่วนตลาดภายในประเทศตามห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารทะเล ยังไม่มีหอยหวานไว้จำหน่ายต่อผู้บริโภคโดยเฉพาะ ภายในประเทศมักจะนิยมบริโภคหอยหวานที่มีขนาดใหญ่ 80 - 120 ตัว/กิโลกรัม


ลักษณะทั่วไปของหอยหวาน
     หอยหวานอาศัยอยู่บริเวณพื้นทะเลที่เป็นทรายปนโคลนที่ระดับความลึก 5 - 20 เมตร หอยหวานแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในเขตทะเลจีนตอนใต้ตั้งแต่ไต้หวันมาจนถึงอ่าวไทยและทะเลอันดามัน หอยหวานที่แพร่กระจายอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลของอ่าวไทย มีจังหวัดตราด จันทบุรี ระยอง เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ระนอง และสตูล สำหรับหอยหมากพบแพร่กระจายบริเวณชายฝั่งทะเลของจังหวัดสตูล และระนอง

อาหารและการกินอาหาร
     ลูกหอยหวานระยะวัยอ่อนจะกินอาหารด้วยการกรอง โดยใช้อวัยวะกรองอาหาร (Velum) พวกแพลงก์ตอน เพื่อโบกพัดน้ำทะเลเข้าสู่ช่องปากและกรองแพลงก์ตอนกินเป็นอาหาร  หอยหวานตั้งแต่ระยะลงพื้นจนโตเต็มวัย มีการดำรงชีพอยู่บนพื้นทรายในทะเล กินเนื้อเป็นอาหาร โดยหอยหวานกินซากสัตว์ที่ตายแล้วเป็นอาหาร ทั้งในสภาพสดและไม่สด หอยหวานมีต่อมน้ำลายสำหรับสร้างน้ำย่อยและส่งออกมาทางงวง เป็นการย่อยอาหารภายนอกร่างกายแล้วดูดเข้าไปภายในร่างกาย งวงสามารถยืดยาวได้ 8 - 10 เซนติเมตร ระบบทางเดินอาหารของหอยหวานประกอบด้วยปาก หลอดอาหาร กระเพาะ ลำไส้ และทรวงหนัก เป็นต้น

การสืบพันธุ์
    หอยหวานเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถแยกเพศได้ทางลักษณะภายนอก แต่สามารถแยกเพศได้ เมื่อหอยหวานโตเต็มวัย และเมื่อหอยหวานยืดตัวออกมาจากเปลือกจะสามารถเห็นอวัยวะเพศผู้ได้ มีรูปร่างเป็นติ่ง รูปใบไม้สีเหลืองอ่อนอยู่บริเวณโคนหนวดข้างขวา สำหรับเพศเมียจะไม่ปรากฏเป็นติ่ง การผสมพันธุ์เป็นแบบภายใน ก่อนการผสมพันธุ์จะมีการจับคู่ระหว่างหอยเพศผู้และเพศเมีย หอยเพศผู้ใช้อวัยวะเพศผู้สอดเข้าไปยังช่องเปิดของเพศเมีย ไข่จะได้รับการผสมในท่อนำไข่และถูกหุ้มปลอกก่อนถูกปล่อยออกสู่ภายนอก ในรูปของฝักไข่ เพศเมียมี Pedal gland ที่บริเวณเท้าที่ทำหน้าที่ผลิตเมือกสำหรับยึดไข่ติดกับวัตถุ

การวางไข่และวิวัฒนาการของลูกหอยวัยอ่อน
    หอยหวานวางไข่เป็นฝัก ฝักไข่เป็นรูปทรงกรวยคล้ายพัด โปร่งใส ภายในฝักไข่มีไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว ฝักไข่แต่ละฝักจะยึดติดกับเม็ดทรายด้วยก้านที่ทำให้ฝักไข่อยู่ในแนวตั้งตรงเมื่ออยู่ในน้ำฝักไข่มีความยาว 2.4 - 2.5 เซนติเมตร กว้าง 0.4 - 0.9 เซนติเมตร และก้านฝักไข่ยาว 0.1 - 0.4 เซนติเมตร หอยหวานสามารถให้ฝักไข่ได้ครั้งละ 30 - 80 ฝัก ภายในฝักไข่มีไข่ที่ได้รับการผสมแล้วประมาณ 450 - 1,200 ฟองต่อฝัก ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วมีรูปร่างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.3 - 0.4 มิลลิเมตร จะพัฒนาอยู่ในฝักไข่ โดยลูกหอยระยะวัยอ่อนจะฟักออกจากฝักไข่ประมาณ 5 - 7 วัน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.4 - 0.5 มิลลิเมตร ลูกหอยมีลักษณะคล้ายผีเสื้อ ไม่มีสี โปร่งแสง เปลือกบาง มีกลุ่มขน 2 กลุ่ม ใช้สำหรับว่ายน้ำและพัดโบกอาหาร จำพวกแพลงก์ตอนเข้าปากระยะนี้จะเริ่มเคลื่อนที่เข้าหาแสงและล่องลอยอยู่ในน้ำ

หลักเกณฑ์การค้ชัดเลือกสถานที่
    หลักเกณฑ์การคัดเลือกสถานที่ มีหลักเกณฑ์คล้ายกันกับการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำทะเลชนิดอื่นๆ มีข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับการคัดเลือกสถานที่ดังนี้

1. พื้นที่ที่เหมาะสม ควรเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับทะเล อยู่ห่างจากทะเลไม่มากนัก สามารถนำน้ำทะเลมาใช้ได้สะดวกและเพียงพอ ไม่ควรอยู่ใกล้ปากแม่น้ำหรือลำคลองขนาดใหญ่ที่มีน้ำจืดไหลลงจำนวนมากในฤดูฝน เพราะอาจเกิดปัญหาความเค็มของน้ำลดลงรวดเร็ว จะมีผลต่ออัตราการเจริญเติบโตและอัตราการรอดตายของหอยหวานได้

2. ควรเป็นน้ำทะเลที่มีความใสสะอาด มีความเค็มค่อนข้างคงที่ เหมาะสมตลอดเวลา น้ำทะเลที่จะใช้ ควรมีความเค็มอยู่ในช่วง 28 - 35 พีพีที หากน้ำมีความเค็มต่ำกว่า 25 พีพีที หอยหวานอาจจะเจริญเติบโตช้าลงและหากความเค็มลดลงต่ำกว่า 20 พีพีที หอยบางส่วนจะเริ่มตายลง

3. สถานที่ที่เพาะเลี้ยงหอยหวาน ควรตั้งอยู่ไกลจากเส้นทางคมนาคมที่สามารถลำเลียงผลผลิตสู่ภัตตาคาร โรงแรม และร้านอาหารประเภทต่างๆ หากอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวก็ยิ่งดี เพราะจะได้จำหน่ายผลผลิตหอยหวานได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่ไม่ควรตั้งอยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำเสียสกปรกหรือมลพิษต่างๆ เพราะอาจมีเชื้อโรคหรือสารพิษปนเปื้อน หอยที่เลี้ยงไว้อาจเกิดโรคต่างๆ และตายได้

4. ควรเป็นแหล่งที่มีสาธารณูปโภค รวมทั้งการคมนาคมสะดวกตามสมควร

 5. แหล่งเลี้ยงหอยหวาน ควรอยู่ใกล้แหล่งอาหารที่ใช้เลี้ยงหอยหวาน เช่น เนื้อปลา เนื้อหอยแมลงภู่ ทำให้มีอาหารให้หอยกินอย่างเพียงพอ สม่ำเสมอและต้นทุนอาหารมีราคาถูก ไม่เสียค่าขนส่งแพง

6. ควรเป็นที่อยู่ใกล้แหล่งในการจัดหาพ่อ - แม่พันธุ์ แหล่งหัวเชื้อแพลงก์ตอนพืช อุปกรณ์ซ่อมบำรุง

7. ปลอดภัยจากการขโมย ห่างไกลจากชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อความปลอดภัยทางด้านสิ่งแวดล้อม


โรงเพาะฟัก
    โรงเพาะฟักต้องมีระบบน้ำและอากาศที่ดี มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ควรพิจารณา คือ

1. ระบบน้ำทะเล : น้ำทะเลที่ใช้จะต้องสะอาดผ่านการกรองและฆ่าเชื้อ โดยการสูบน้ำทะเลผ่านเครื่องกรองทรายและฆ่าเชื้อด้วยกรรมวิธีต่างๆ เช่น การใช้คลอรีน การใช้โอโซน หรือการใช้ UV นอกจากนี้หากพบน้ำทะเลมีตะกอนมากหรือขุ่น ควรมีบ่อพักน้ำทะเลก่อนอย่างน้อย 24 - 48 ชั่วโมง แล้วจึงมาผ่านการกรองทรายและฆ่าเชื้อต่อไป  น้ำทะเลที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วจะใช้ในการเพาะอาหารจำนวนแพลงก์ตอนพืช และใช้ในการอนุบาลลูกหอยหวาน ส่วนน้ำทะเลที่ผ่านการกรองสามารถใช้ถ่ายเทในบ่อเลี้ยงพ่อ - แม่พันธุ์ได้เลย

2. ระบบอากาศ : ใช้เครื่องเป่าอากาศที่มีกำลังพอ สำหรับใช้ในโรงเพาะฟักลูกหอยและการเพาะสาหร่ายที่เป็นอาหารของลูกหอย

3. โรงเพาะแพลงก์ตอน : เป็นส่วนประกอบของโรงเพาะฟักลูกหอยหวาน มีความสำคัญมากในการอนุบาลลูกหอยหวานระยะวัยอ่อน เพราะลูกหอยวัยอ่อนเป็นสัตว์ประเภทกรองกินอาหารจากน้ำทะเลตลอดเวลา

อาหารลูกหอยหวานวัยอ่อน
    อาหารลูกหอยหวานระยะวัยอ่อน ได้แก่ สาหร่ายสีน้ำตาลแกมทอง(Isochrysis galbana) สาหร่ายเซลล์เดียวสีเขียว(Teteaselmis sp.) และไดอะตอม (Chaetoceros calcitrans) ปริมาณอาหารที่ให้จึงต้องคำนวณให้ได้ 20,000 - 30,000 เซลล์ของสาหร่าย/ซีซี

การเลี้ยงพ่อ - แม่พันธุ์หอยหวาน            
    พ่อ - แม่พันธุ์หอยหวานจะต้องมีขนาดใหญ่ ความยาวเปลือกไม่น้อยกว่า 4.5 เซนติเมตร น้ำหนักตัวประมาณ 30 กรัมขึ้นไป หอยหวานมีการสืบพันธุ์ตลอดทั้งปี ฤดูกาลวางไข่สูงที่สุดอยู่ในช่วง เดือนมีนาคม - พฤษภาคม

บ่อเลี้ยงพ่อ แม่พันธุ์หอยหวาน
    จะเป็นบ่อซีเมนต์หรือบ่อผ้าใบ หรือถังไฟเบอร์กลาสก็ได้ อาจเป็นทรงกลมหรือทรงสี่เหลี่ยมขึ้นอยู่กับวัสดุอุปกรณ์และสถานที่นั้นๆ เช่น บ่อซีเมนต์ขนาด กว้าง x ยาว x สูง เป็น2.5 x 10 x 1 เมตร มีน้ำสูง 0.5 เมตร จัดระบบอากาศ ระบบน้ำ มีการระบายน้ำให้ไหลช้าๆ พื้นทรายเป็นทรายหยาบหรือมีเศษปะการังร่วมด้วยก็ได้ หนาประมาณ 10 เซนติเมตร อาจจัดพื้นทรายเป็นที่กรองน้ำ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการลงทุน ทำการลดน้ำและทำความสะอาดพื้นทรายทุกๆ 7 วัน ให้อาหารพวกปลาข้างเหลืองที่ตัดเอากระเพาะอาหารออกและบั้งเป็นริ้วๆ 2 - 3 แถว ให้กินจนเพียงพอ อัตราความหนาแน่นประมาณ 50 ตัว ต่อตารางเมตร อัตราส่วนเพศผู้ต่อเพศเมียเป็น 1 : 1 เมื่อหอยวางไข่จะวางติดกับพื้นทราย ทำการเก็บรวบรวมฝักไข่ใส่ในตะกร้าพลาสติกลอยน้ำเพื่อนำไปอนุบาลในถังอนุบาลต่อไป

การอนุบาลลูกหอยหวานระยะวัยอ่อน
    นำฝักไข่มาใส่ตะกร้าพลาสติกลอยน้ำในถังฟักไข่ที่มีขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร ในบ่อซีเมนต์ทรงเหลี่ยมหรือทรงกลม เป็นบ่อไฟเบอร์กลาส บ่อผ้าใบ หรือบ่อพลาสติก ใส่น้ำลึกประมาณ 0.5 - 0.8 เมตร พร้อมหัวแอร์ให้อากาศไม่แรงเกินไปให้ทั่วถึงทั้งบ่อ แล้วแต่ขนาดบ่อกับการปฏิบัติงาน ที่มีขนาด 2 ลูกบาศก์เมตร เมื่อลูกหอยหาานฟักตัวอยุ่ในฝักไข่ประมาณ 5 - 7 วัน ก็พัฒนาตัวอ่อนจาก Trocophore Larvae เข้าสู่ระยะวัยอ่อน Veliger Larvae ที่มีลักษณะคล้ายผีเสื้อ ตัวอ่อนระยะนี้จะออกจากฝักไข่ ล่องลอยไปกับน้ำทำการรวบรวมหรือปรับปริมาตรความหนาแน่นของลูกหอยในถังอนุบาลให้มีปริมาตรความหนาแน่นของลูกหอยหวานอ่อนที่เหมาะสม คือ มีความหนาแน่นประมาณ 400 - 500 ตัวต่อลิตร สามาารถรวบรวมลูกหอยที่ลงพื้นได้ตั้งแต่ 17 วันขึ้นไป การให้อาหารแพลงก์ตอนพืชให้ได้ตั้งแต่แรกที่ลูกหอยระยะวัยอ่อนออกจากฝักไข่

       การให้อาหารจำพวกแพลงก์ตอนพืชจะให้ในอัตราความหนาแน่นประมาณ 20,000 - 30,000 เซลล์ต่อมิลลิเมตร เมื่ออนุบาลได้ 10 วันขึ้นไปหลังจากออกจากฝักไข่สามารถที่จะเสริมตัวอ่อนไรน้ำเค็มที่แช่เย็นด้วยน้ำแข้งประมาณ 10 นาที จะทำให้อัตราการลงพื้นของลูกหอยหวานระยะวัยอ่อนมีอัตราการรอดตายสูงขึ้น ทั้งนี้ลูกหอยหวานระยะวัยอ่อนตั้งแต่ 10 วันขึ้นไป หลังจากออกจากฝักไข่จะเริ่มมีพฤติกรรมลงพื้น สามารถกินเนื้อปลาข้างเหลืองบดละเอียดได้ และยังสามารถว่ายน้ำได้ด้วย ถ้ามีอาหารเพียงพอจะทำให้ลูกหอยหวานลงพื้นมีความแข้งแรงและลดอัตราการตายลง

การอนุบาลลลูกหอยหวานระยะลงพื้น
    เมื่อลูกหอยหวานระยะวัยอ่อน (veliger larvae) พัฒนาตัวเข้าสู่ลูกหอยหวานระยะลงพื้น (setted juvenile) ลูกหอยหวานระยะนี้จะมีรูปร่างเหมือนพ่อแม่พันธุ์สามารถคลานและกินเนื้อเป็นอาหาร ลูกหอยระยะนี้จะมีขนาด 0.2 - 0.3 เซนติเมตร ทำการเก็บรวบรวมลูกหอยไปเลี้ยงในบ่ออนุบาล เป็นต้น ที่มีขนาดปริมาตรตั้งแต่ 0.5 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ใส่น้ำสูงประมาณ 30 - 50 เซนติเมตร ที่พิ้นที่จะปูด้วยทรายละเอียดขนาดประมาณ 0.5 เซนติเมตร จัดระบบน้ำให้ไหลช้าตลอดเวลามีระบบอากาศ บริเวณขอบบ่อหรือถังจะบุด้วยแผ่นสก๊อตไบรท์หรือวัสดุอื่นๆ ป้องกันการคลานขึ้นมาตายได้ นอกนี้อาจใช้ระบบการฉีดน้ำเป็นฝอยบริเวณผนังบ่อก็ได้ อัตราความหนาแน่นของลูกหอยหวานในระยะนี้ประมาณ 3,000 ตัวขึ้นไป ขึ้นอยู่กับระบบการจัดการในการอนุบาล ให้อาหารจำพวกปลาข้างเหลือง ให้กินจนเพียงพอทุกวัน การกินอาหารลูกหอยหวานระยะนี้จะกินกันเป็นกลุ่ม กระจายจนทั่วอาหาร ให้อาหารกินทุกวันๆ ละ 1 ครั้ง ก่อนให้อาหารใหม่ควรเก็บเศษอาหารเก่าออกก่อน ทำการระบายน้ำช้าๆ อยู่ตลอดเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย ใช้ระยะเวลาในการอนุบาลระยะนี้ประมาณ 30 วัน จะได้ลูกหอยหวานขนาด 1 - 1.5 เซนติเมตร จึงนำลูกหอยไปสู่ระบบการเลี้ยงหอยเนื้อต่อไป

การเลี้ยงหอยหวาน
    ลูกหอยหวานขนาด 1 - 1.5 เซนติเมตร นับว่ามีความแข็งแรงทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี เหมาะสมที่จะนำไปเลี้ยงต่อจนถึงขนาดที่ตลาดต้องการรูปแบบการเลี้ยงหอยหวานในปัจจุบันมี 2 วิธี คือการเลี้ยงบนบกและการเลี้ยงในทะเล การเลี้ยงบนบกส่วนใหญ่จะเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ มีหลายขนาดขึ้นอยู่กับการจัดการในการเลี้ยง การเลี้ยงในบ่อดินและการเลี้ยงในกระชังในบ่อดิน การเลี้ยงในบ่อผ้าใบขนาด 6 x 8 เมตร มีหลังคาคลุมและการเลี้ยงในทะเลเป็นการเลี้ยงในคอก การเลี้ยงในกระชังลอยในทะเลขนาดของคอกและกระชังขึ้นอยู่กับความเมหาะสมของพื้นที่และการจัดการ

ขนาดและอัตราการปล่อย
    ขนาดของลูกหอยหวานที่เหมาะสมจะนำไปเลี้ยงนั้น ควรมีความยาวเปลือก 1 เซนติเมตรขึ้นไป หากนำลูกหอยขนาดดังกล่าวไปเลี้ยงก็จะมีอัตราการรอดตายค่อนข้างสูง อัตราการปล่อยลูกหอยขนาด 1.0 - 1.5 เซนติเมตร ควรปล่อยประมาณ 300 - 500 ตัวต่อพื้นที่บ่อ 1 ตารางเมตร

อาหารและการให้อาหาร
    อาหารของการเลี้ยงหอยหวานเป็นพวกเนื้อปลา เนื้อหอยแมลงภู่ เนื้อหอยกะพง ปู รวมทั้งอาหารสำเร็จรูป และอาหารผสมอื่นๆ การให้อาหารนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารที่ให้และขนาดของหอยหวานโดยมากมักแล่ปลาหรือสับปลาเป็นชิ้นตามขนาดของหอยที่เลี้ยง หากเป็นหอยแมลงภู่จะใช้หอยขยาดความยาวเปลือกไม่เกิน 3 เซนติเมตร หรือเรียกว่า หอยเป็ด เพราะมีราคาถูก โดยจะใช้มีดผ่าหอยทั้งเปลือกให้ฝาแบะออกจากกัน ปริมาณอาหารที่ให้กรณีเป็นเนื้อปลา ควรให้ 2 - 10 % ของน้ำหนักหอยหวานทั้งหมดที่เลี้ยง และต้องหมั่นปรับปริมาณอาหารเป็นประจำเพื่อป้องกันอาหารเหลือหรือไม่เพียงพอ ปกติจะให้อาหารแก่หอยวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเวลาเดียวกันทุกวัน โดยให้ครั้งละ 2 - 3 ชั่วโมง หลังให้อาหารแล้วเก็บอาหารส่วนที่เหลืออออกให้หมด




การดูแลรักษา
    การเลี้ยงหอยหวานด้วยความหนาแน่นมาก มักจะมีเศษอาหารเหลือซึ่งเมื่อระบายน้ำที่มีสารอินทรีย์เหล่านี้ลงในทะเลก็มักเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จึงไม่มีผลต่อสภาพแวดล้อมในทะเลแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามผู้เลี้ยงจะต้องหมั่นทำความสะอาดทรายรองพื้นหรือบ่อเลี้ยงเป็นประจำ 3 วันครั้ง หรือสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของน้ำที่ใช้เลี้ยงและสภาพพื้นทรายว่ามีสีดำและสกปรกมากหรือไม่เพียงใด หากพื้นทรายที่ใช้เลี้ยงเป็นคราบสีดำแผ่กว้างออกมากขึ้น จำเป็นต้องจัดการทำความสะอาดทรายที่รองพื้นดังกล่าว หรืออาจสอบระบบน้ำและระบบลม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง

       การตรวจสอบการเจริญเติบโตของหอยหวานในบ่อที่เลี้ยง ควรทำอย่างน้อยเดือนละ 1 - 2 ครั้ง รวมทั้งการรวบรวมข้อสังเกตต่างๆ ของผู้เลี้ยง นำมาวิเคราะห์พิจารณาปัญหา สาเหตุ และแนวทางแก้ไขจะช่วยให้การเลี้ยงมีการพัฒนาและประสบผลสำเร็จมากขึ้น


1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ11 ธันวาคม 2561 เวลา 01:17

    หอยหมาก กับหอยหวาน ครับ ในภาพ ปนๆกันอยู่ครับ

    ตอบลบ