วิธีเพาะเลี้ยงปลากระทิง
วิธีเพาะเลี้ยงปลากระทิง
ปลากระทิงลาย ลักษณะทางชีววิทยา
ปลากระทิงลาย ชื่อสามัญ Armed Spiny Eel ชื่อวิทยาศาสตร์ Mastacembelus armatus รูปร่าง
คล้ายปลาไหลแต่ลำตัวแบนข้าง มีเกล็ดเล็กละเอียดบนลำตัวและหัวด้านบนมีสีน้ำตาลเข้มมีแถบสีดำเป็นเส้นคดเคี้ยวตั้งแต่บริเวณนัยน์ตาจนถึงฐานครีบหาง เส้นแถบนี้จะประแต้มไปจนถึงครีบหลังและครีบก้นปากเล็ก ฟันซี่เล็ก ลักษณะของจะงอยปากยาวดูคล้ายงวง ช่องเหงือกแคบเล็ก อยู่ค่อนไปทางตอนใต้ของส่วนหัว ครีบหลัง ครีบหาง และครีบก้นเชื่อมติดกัน บริเวณหน้าครีบหลังและครีบท้องมีก้านครีบเดี่ยว ที่เปนหนามแข็งปลายแหลม ไม่มีครีบท้อง พบในแม่น้ำ หนองบึงและอ่างเก็บน้ำทั่วทุกภาค กินแมลง ลูกกุ้ง ลูกกบและปลาอื่น ๆ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า (กรมประมง, 2535)
การเพาะพันธุ์
การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์
ปลากระทิงที่รวบรวมจากธรรมชาติจะตื่นตกใจง่าย ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน จึงจะยอมรับอาหาร
ที่ฝึกให้กินเป็นอย่างดี โดยอาหารที่ให้เป็นลูกปลาตะเพียนขาว,ปลายี่สกเทศ ขนาดประมาณ 2 - 3
เซนติเมตร และพ่อแม่พันธุ์ปลามีความสมบูรณ์เพศพร้อมที่จะทำการผสมพันธุ์ ได้ในเดือนกันยายน โดยการตรวจสอบลักษณะภายนอก แม่ปลาดูลักษณะส่วนท้องอูมเป่ง ผนังท้องบางและนิ่ม ช่องเพศขยาย พ่อปลาเมื่อรีดที่ท้องจะมีน้ำเชื้อไหลออกมา
การฉีดฮอร์โมนผสมเทียม
ปลากระทิงลายสามารถเพาะพันธุ์ได้โดยวิธีการฉีดฮอร์โมนผสมเทียม อัตราการใช้ฮอร์โมนเป็นดังนี้
แม่พันธุ์ปลา แบ่งฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 8 ชั่วโมง ครั้งที่ 1 ฉีด 20 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ครั้งที่ 2
ฉีด 30 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และทั้ง 2 ครั้งฉีดร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
พ่อพันธุ์ปลาฉีดพร้อมกับแม่พันธุ์ปลาครั้งที่ 2 ในอัตรา 10ไมโครกรัม/กิโลกรัมร่วมกับ
ยาเสริมฤทธิ์ 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
หลังจากฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ครั้งที่ 2 แล้วประมาณ 37 – 41 ชั่วโมง จะสามารถรีดไข่จากแม่ปลาได้
ไข่ปลากระทิงลายเป็นแบบจมติดสีเหลืองอ่อน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 มิลลิเมตร ซึ่ง
ไข่ 1 กรัม จะมีปริมาณไข่ประมาณ 78 ฟอง หลังจากรีดไข่แล้วจะรีดน้ำเชื้อลงผสมกับไข่ น้ำเชื้อมีสีขาวขุ่น การผสมเทียมใช้วิธีแห้งแบบดัดแปลง ( modified dry method ) ไข่ปลากระทิงลายสามารถฟักได้ในถาดฟักไข่ปลานิล โดยโรยไข่ลงไปบาง ๆ เปิดน้ำให้กระแสน้ำไหลตลอดเวลา หลังจากรีดไข่ผสมกับน้ำเชื้อแล้ว ไข่จะฟักเป็นตัวในเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง มีอัตราการปฏิสนธิร้อยละ 95 – 97 อัตราการฟักร้อยละ 80 – 90 และอัตรารอดของลูกปลาร้อยละ 94 - 95 ที่อุณหภูมิน้ำ 26 – 27 องศาเซลเซียส โดยหลังจากฟักเป็นตัวจนลูกปลาถุงไข่แดงยุบหมดใช้เวลา 7 – 9 วันที่อุณหภูมิน้ำ 25 – 26 องศาเซลเซียส
ลักษณะท้องและช่องเพศของแม่ปลา
รังไข่และถุงน้ำเชื้อ
รีดไข่จากแม่พันธุ์ปลา
รีดน้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์ปลา
การผสมไข่กับน้ำเชื้อ
ไข่ที่โรยเพื่อฟักในถาดฟักไข่ปลานิล
ลูกปลาอายุ 1 วัน
ลูกปลาอายุ 2 วัน
ลูกปลาอายุ 5 วัน
ลูกปลาอายุ 7 วัน (ถุงไข่แดงยุบ)
การอนุบาลลูกปลากระทิง
ลูกปลากระทิงมีการเจริญเติบโตค่อนข้างช้า โดยใช้เวลาถึง 7 วันถุงไข่แดงจึงจะยุบ ลูกปลาแรกฟัก
จะนอนนิ่ง ๆ ที่พื้นของถาดฟักไข่ เมื่อลูกปลาอายุ 3 วันจะเริ่มรวมกลุ่มและหลบอยู่ตามมุมถาด
สามารถว่ายน้ำไปมาได้เล็กน้อย เริ่มให้ไรแดงร่อนเป็นอาหารเมื่อลูกปลาอายุได้ 7 วัน และลูกปลาสามารถกินไรแดงร่อนได้ดีเมื่ออายุ 9 วัน
การเลี้ยงปลากระทิง
ลูกปลาอายุ 10 – 40 วันให้ไรแดงเป็นอาหาร หลังจากนั้นจะเริ่มฝึกให้กินเนื้อปลานิลสับละเอียด
ปรับขนาดของเนื้อปลาสับตามขนาดของปากลูกปลา การเลี้ยงลูกปลากระทิงจะประสบปัญหาปลาป่วยเป็นโรคที่เกิดจากพยาธิภายนอก เช่นเห็บระฆัง อิพิสไทลิส การรักษาใช้ฟอร์มาลิน 25 ซีซี. ต่อน้ำ 1,000 ลิตรเป็นเวลา 3 – 5 วัน ปลาจะมีอาการดีขึ้น (ศิพร และ คณะ, 2552 )